ระวัง! จากความจำสู่อาการเดินช้า เมื่อการเคลื่อนไหวผิดปกติเป็นสัญญาณของ “สมองเสื่อม” ที่ไม่ควรมองข้าม
อาการสมองเสื่อม (Dementia) สมองเสื่อมเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้เกิดการเสื่อมถอยในด้านการทำงานของสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อความจำ การคิด การพูด และการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม สัญญาณของโรคนี้อาจไม่ใช่แค่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความจำ หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบที่เกิดกับการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยด้วย ซึ่งอาจพบสัญญาณที่น้อยคนนักจะรู้ว่าสามารถสังเกตเห็นได้ตามการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยขึ้นบันได
การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติขณะขึ้นบันได
องค์กรการกุศล Alzheimer Scotland ซึ่งให้การสนับสนุนผู้ป่วยสมองเสื่อม ได้ชี้ให้เห็นถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจสังเกตเห็นได้เมื่อผู้ป่วยใช้บันได โดยระบุว่า “หลายคนมักเข้าใจว่าอาการสูญเสียความจำและสมองเสื่อมคือสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้วมีอาการอื่นๆ ที่ต้องระวังเช่นกัน”
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อมคือความยากลำบากในการขึ้นบันได ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถยกขาได้ตามปกติ หรืออาจเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเดินช้าและลากเท้าแทนการยกขา ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งที่ควรระวัง
หากพบผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดินขึ้นบันได ควรพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และหากเป็นผู้ที่อาศัยในพื้นที่เช่า ควรพูดคุยกับเจ้าของบ้านหรือนายหน้าถึงการปรับปรุงความปลอดภัยในบ้าน เช่น
- เปลี่ยนพรมหรือวัสดุปูพื้นที่ชำรุด
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม้ค้ำบันไดมีความแข็งแรง
- ใช้สีหรือการติดตั้งขอบบันไดเพื่อทำให้แต่ละขั้นบันไดเห็นได้ชัดเจน
- ติดตั้งราวจับทั้งสองข้างของบันไดเพื่อช่วยให้เดินขึ้นได้อย่างปลอดภัย
- รักษาบันไดให้สะอาดและปลอดภัยจากสิ่งกีดขวาง
นอกจากนี้ การทำกิจกรรมเสริมสร้างความแข็งแรงและการทรงตัว เช่น การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการล้มได้
ทั้งนี้ สัญญาณอื่นๆ ที่ควรระวัง สำหรับอาการสมองเสื่อมที่ผู้ป่วยอาจพบได้ ยังมีหลายประการตามที่ NHS ระบุ เช่น ความจำที่เสื่อมถอย, การคิดและการตัดสินใจที่ช้า, การใช้ภาษาไม่ถูกต้องหรือมีปัญหาในการพูด, การเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ยาก, การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม,
รวมทั้ง การสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ และความยากลำบากในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการสูญเสียความสนใจในความสัมพันธ์ด้วย ดังนั้น หากตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและการตรวจสอบอาการเพิ่มเติม
- รู้ไว้ดีกว่า! อาการ “คันเท้า” อาจเป็นสัญญาณ 3 ปัญหาสุขภาพร้ายแรง ไม่ใช่แค่โรคเบาหวาน
- คนป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แพทย์เตือน 3 อาหารควรเลี่ยงหากไม่อยาก “ไตพัง”
ใส่ความเห็น